วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

โขน...มหรสพหลวง การแสดงแห่งราชสำนัก



ความงดงาม....แห่งศิลปะการร่ายรำ  ทุกท่วงท่า... ที่แสดงออกมาอย่างเด่นชัด      ผสานกับทุกจังหวะ...ของดนตรีที่เร้าใจ      เรียงร้อยเป็นเรื่องราว...ของบทละคร      สู่นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เรียกว่า   โขน ทว่า กว่าจะมาเป็นโขนได้นั้น ต้องผ่านมิติแห่งกาลเวลา มีวิวัฒนาการ มาหลายยุคหลายสมัยเพียงใด  จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ของรอยต่อแห่งวัฒนธรรมได้อย่างไร  
            นี่คือ  จุดเริ่มต้น ของปริศนาแห่ง โขน มหรสพหลวง  อันน่าภาคภูมิใจ ของคนไทย...                 

           ลายเส้น    ท่วงท่าและลีลาที่แสดงออก  ถูกขีดเขียนบนผนังถ้ำ  ได้ซ่อนเร้นปริศนาอะไรบางอย่างเอาไว้หรือไม่   หากมีบางอย่างซุกซ่อนไว้จริง  และสิ่งนั้นคืออะไร
  
            เมื่อมองทะลุมิติสู่อดีต   จะพบว่า ทุกๆ อากัปกิริยาที่ปรากฏบนภาพเขียน  ต่างมีนัยสำคัญและมีความหมาย ซึ่งอาจเป็นเรื่องการทำมาหากิน   การล่าสัตว์  หรือบางครั้งเป็นการแสดงท่าทางพิเศษ   ที่คล้ายกับการละเล่นเต้นระบำรำฟ้อน  และด้วยเหตุนี้  นักโบราณคดี  จึงเชื่อมั่นว่า การเต้นรำน่าจะเกิดขึ้นในการประกอบพิธีกรรม

                        ทำไม...มนุษย์ถึงคิดสร้างสรรค์การฟ้อนรำขึ้นมา  และพวกเขา   คิดขึ้นจากอะไร...

                        อาจเป็นไปได้ไหมว่า   มนุษย์พยายามค้นหาเครื่องมือ ช่วยในการผ่อนคลาย  เพื่อความสนุกสนาน ด้วยการเลียนแบบธรรมชาติ   ให้กลายเป็นการฟ้อนรำ ซึ่งอาจเริ่มต้น จากการเล่าเรื่องชีวิตจริงของผู้คน  จนกระทั่งเพิ่มสีสันด้วยเสียงดนตรี เกิดเป็นท่วงทำนองและจังหวะลีลามากยิ่งขึ้น 
            ประกอบกับความที่มนุษย์ เป็นผู้ที่มีจารีตประเพณี  ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม เป็นตัวกั้นการแสดงออกทางอารมณ์ที่มากจนเกินไป 
            ดังนั้น มนุษย์จึงคิดประดิษฐ์ ท่วงท่าให้งดงาม และมีความหมายมากขึ้น จากกริยาท่าทาง  กลายเป็น ภาษาท่า”  สื่อสารแทนการพูด   การแสดงออกถึงอารมณ์ เกิดเป็นกระบวนท่าฟ้อนรำ  ที่วิจิตรงดงาม ตามแบบฉบับของแต่ละชนชาติ
         
             “ใคร”  คือ  ผู้ริเริ่มให้เกิดศิลปะแห่งละครฟ้อนรำขึ้นมาอย่างชัดเจน 
                        จากการสืบค้นของนักโบราณคดี   พบว่า ชนชาติโบราณ ที่มีอารยธรรมเก่าแก่  ดูเหมือนจะเป็นชนชาติ    อียิปต์    กรีก และอินเดีย   ที่มีหลักฐานยืนยันว่า   มีนาฏศิลป์ หรือศิลปะแห่งละครฟ้อนรำ  เป็นของตนเองอย่างชัดเจน 
            ซึ่งในครั้งนั้น   ต่างเกิดขึ้น   เพื่อถวายให้กับเทพเจ้าในสรวงสวรรค์  และช่วงเวลาต่อมา  จึงได้นำเข้ามาเกี่ยวโยงกับมนุษย์ ด้วยการออกแบบ    และสร้างสรรค์การฟ้อนรำ ให้มีความละเอียดประณีต   ตามความนิยมของชาตินั้นๆ  ซึ่งมีคำกล่าวที่ว่า มนุษย์ที่เจริญ  ย่อมมีศิลปะการรำ  เป็นแบบของตนเอง...

                        แล้วในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้  ใคร”  คือ ต้นแบบคนสำคัญ....ของงานนาฏศิลป์
           


             ”อินเดีย”  คือชนชาติที่มีศิลปะการแสดง เป็นระบบแบบแผนที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย   นั่นอาจเป็นเพราะว่านาฏศิลป์ และละครคลาสสิกของอินเดีย  มีประวัติความเป็นมา  ที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย   รวมถึงศิลปะการแสดง  ในยุคโบราณของอินเดีย   มีพัฒนาการในด้านรูปแบบ  ลีลา  และเทคนิคของการแสดง   ที่มีมาตรฐานซึ่งได้แผ่ขยายออกไปทั่วเอเชีย  พร้อมทั้ง  ได้สืบทอดตามประเพณีนิยม  อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศอื่น   ในช่วงเวลาเดียวกัน

              
             ความจริงอย่างหนึ่ง  ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชีย   มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทุกๆ  ด้าน ทั้งประวัติศาสตร์   การเมือง   เศรษฐกิจ   สังคม   ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม   ดังนั้น   การที่จะศึกษาให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เป็นไทย   และเกี่ยวกับไทย  ให้ถ่องแท้อย่างรอบด้าน จำเป็นอย่างยิ่ง  ที่จะต้องศึกษาประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน   การทำความเข้าใจ  เกี่ยวกับศิลปะการแสดง      หรือนาฏศิลป์ประจำชาติ   จะเป็นบริบทสำคัญ  ที่จะเข้าใจเกี่ยวกับนาฏศิลป์  และการละครของไทย   ได้อย่างถูกต้องตรงทิศทาง 






         ทำไมโขน.....ต้องเล่นเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น.....


               เรื่องรามเกียรติ์นั้น แพร่หลายอยู่ในดินแดนสยามมายาวนาน ซึ่งแท้จริงแล้ว รามเกียรติ์ฉบับของชาวสยามมีต้นเรื่องมาจากรามายณะ ฉบับของชาวทมิฬ คืออินเดียใต้ ซึ่งเป็นช่วงสมัยราชวงศ์ปัลลวะ   และคุปตะเขียนเรื่องนี้เข้ามาเผยแพร่     โดยผ่านการเดินทางมาค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา     จึงนำเอาคัมภีร์รามายณะ  มาเล่าเพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา          จากนั้นเมื่อรับเข้ามาจึงค่อยๆ กลายเป็นรามเกียรติ์ในที่สุด    คติรามเกียรติ์มีบทบาทสำคัญ    ต่อพัฒนาการบ้านเมืองในดินแดนสยาม    ที่จะมีความก้าวหน้าขึ้นมาเป็นรัฐ
       
                    
         
               โขนเป็นการละเล่น       ซึ่งก่อรูปขึ้นมาจากประเพณีหลายๆ  อย่างที่มีอยู่ก่อน คือ กระบี่กระบอง  หนังใหญ่ และชักนาคดึกดำบรรพ์  ให้รวมเข้าด้วยกันกลายเป็นสิ่งใหม่ที่เรียกว่า โขน    ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนายาวนานพอสมควร   น่าจะเชื่อว่าการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อคือ  รามเกียรติ์  ตั้งแต่ยุคทวารวดี   แต่ชื่อว่า โขน นั้นอาจเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระนารายณ์    เมื่อนานๆ      เข้าระบำค่อยๆ  ก่อรูปออกมาเล่นแทนตัวหนังบางตัว   จนในที่สุด     ก็เล่นแทนหนังทั้งเรื่องจึงเรียกชื่อว่า โขน ที่มาจากรากศัพท์เกี่ยวกับ   ละครดึกดำบรรพ์    ด้วยเหตุนี้ โขน จึงเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย      ที่รวมเอาศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน    และเป็นนาฏศิลป์ที่ผู้แสดงต้องสวมหน้ากากที่เรียกว่า หัวโขน”        และเต้นประกอบจังหวะ ร่ายรำหรือตีบทให้เข้ากับคำร้องบทพากย์  และบทเจรจา

              
                ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กำเนิดของโขน หรือที่มาของโขนนั้นมาจากากรแสดงหลายประเภท ซึ่งเป็นทั้งการแสดงของไทย และของวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งหลอมเป็นนาฏกรรม ที่ยิ่งใหญ่ และอลังการประเภทหนึ่งของไทยพร้อมทั้งมีวิวัฒนาการเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมายาวนาน

                          
                จึงเห็นได้ว่า ศิลปะแห่งการเล่นโขน  ได้วิวัฒนาการ มาอย่างต่อเนื่อง  นับตั้งแต่สมัยพระนารายณ์   ล่วงถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา  กรุงธนบุรี   และกรุงรัตนโกสินทร์    ซึ่งในแต่ละยุคสมัย   มีความแตกต่างกัน  หากแต่ยังคงสืบทอดการเล่นโขน    ให้ยังคงมีอยู่มิได้สูญหายไป นับว่าการวิวัฒนาการ     ถือเป็นความเจริญก้าวหน้าของศิลปะแขนงนี้   ที่สืบทอดมายาวนาน   นับกว่า 300 ปี

             
              การฝึกหัดโขน .....ทำไมต้องเป็นชายเท่านั้น ....
              อาจเป็นเพราะตามประเพณีโบราณ  โขนเป็นการแสดงของราชสำนัก  ที่ต้องใช้มหาดเล็ก     ซึ่งเป็นผู้ชายในการเล่นทั้งหมด โดยการต้องเริ่มฝึกหัดตั้งแต่เยาว์วัย  ราวอายุ 8-12 ขวบ  จึงจะฝึกหัดได้ดี   ซึ่งในชั้นต้นครูผู้ใหญ่จะต้องพิจารณาคัดเลือก  ออกเป็น 4 พวก คือ   พวกพระ นาง   ยักษ์  ลิง

                การฝึกจะต้องใช้เวลาหัดมาก  จนสามารถเกิดเป็นความชำนาญเพียงพอ       จึงจะสามารถแสดงท่าออกมาได้งดงามตามภาษานาฏศิลป์     เพราะในศิลปะทางนาฏกรรมจำเป็นต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการเต้น    และรำให้งดงามเป็นสง่า    ที่เรียกว่า    สุนทรียรส          เพราะความงามหรือสุนทรียรสอันเป็นหลักสำคัญของศิลปะ    ดังนั้น   ท่าเต้นรำของโขนละคร      จึงเป็นการประดิษฐ์ท่าทาง    ด้วยการอาศัยหลัก    ของความงดงามเป็นการส่งภาษาโดยเฉพาะ เรียกว่า   นาฏยภาษา   หรือ ภาษานาฏศิลป์ คือ  Dance Language    เพราะทุกท่างท่ามีความหมายแสดงออกมาอย่างชัดเจน  เฉกเช่นเดียวกับคำพูด



               ด้วยเหตุนี้การดูโขน    จึงอยู่ที่การดูท่าเต้นท่ารำ เพาะท่าเต้นรำเหล่านั้น        เป็นคำพูดของโขน เนื่องจาก โขนจะพูดด้วย  ท่ารำ   ท่าเต้น    ท่าทำบทนั้นๆนั่นเอง



 
            
                จากมหรสพหลวง  การแสดงแห่งราชสำนัก อันยิ่งใหญ่   ปัจจุบันเป็นเพียงการทำเพื่อการอนุรักษ์โขน  ไว้จริงหรือ     อะไรที่ทำให้โขนเริ่มเสื่อมลง      เหลือเพียงแค่ ศิลปะแห่งการอนุรักษ์เท่านั้น ....


           
            หรืออาจเป็นเพราะ....ความยากในการเข้าใจเรื่องราวที่แสดงของโขน
            หรือเป็นเรื่องของการฝึกหัด   ที่ต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง    เพราะท้ายที่สุด   จะเหลือผู้ที่เรียนจบและมีความเหมาะสม  กับการเป็นนักแสดงโขนที่น้อยลง
            หรืออาจเป็นเพราะว่า   การขาดเวทีการแสดง ...
            เพราะปัจจัยทางสังคมเปลี่ยนไปหรือไม่ ....

            หรืออาจเป็นทั้งหมดนี้  คือประเด็นสำคัญที่ทำให้โขน มหรสพชั้นสูงของไทย  จะสูญหรือไม่สูญ....
          
             
             แม้ว่า...จะมีหลายเวที     ที่ให้โอกาสการแสดงโขนก็ตาม   หากแต่สิ่งหนึ่งที่ที่เรายังไม่สามารถให้คำตอบได้คือ โขนในวันนี้   จะเป็นอย่างไร... จะอยู่ต่อไปหรือไม่ ..หรือจะอยู่แบบไหนในสังคมไทย...